สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ คว้าเกรด A ผลประเมิน ITA ปี 2565 พร้อมเดินหน้ายกระดับเป็นองค์กรแห่งการทำความดี ตามหลักธรรมมาภิบาล

2 ส.ค. 65 46

        

        พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยว่า “สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) แหล่งเรียนรู้พระเกียรติคุณ และพระอัจฉริยภาพ ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้ามา เรียนรู้ศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร บนพื้นที่เรียนรู้กว่า 374 ไร่ และมีการพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และเป็นธรรม โดยส่งเสริมให้บุคลากรนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติงาน และผลักดันให้สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เป็นองค์กรแห่งการทำความดี ปฏิบัติงานตามหลักธรรมมาภิบาล และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่องค์ความรู้ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้ารับการบริการเป็นหลัก ได้เข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assesment : ITA) โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นี้ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ผ่านเกณฑ์การประเมินและจัดให้อยู่ในระดับ A ด้วยคะแนน 94.70 ถือว่าเป็นการได้รับคะแนนประเมินที่ดีขึ้น +2.08 คะแนน เมื่อเทียบกับผลการประเมิน ปี 2564 ได้คะแนน 92.62 ” 

        การประเมิน ITA หรือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐในด้านการบริหารจัดการ การให้บริการ และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งตอบสนองต่อการให้บริการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและภายนอกอย่างเป็นธรรม หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะได้รับทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร โดยผลการประเมินที่ได้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การให้บริการ สามารถอำนวยความสะดวก และตอบสนองต่อประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 มีหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมประเมินจำนวน 8,303 หน่วยงาน ผ่านเกณฑ์การประเมินจำนวน 5,855 หน่วยงาน (70.52%) ซึ่งการประเมินมี 3 รูปแบบ 10 ตัวชี้วัด ได้แก่ การประเมินของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการในหน่วยงาน) มี 5 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ การใช้ทรัพย์สินของราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต การประเมินของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (ประชาชน หรือผู้มาติดต่อขอรับบริการกับหน่วยงาน) มี 3 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย คุณภาพการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการสื่อสาร และการปรับปรุงระบบการทำงาน และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ มี 2 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย การเปิดเผยข้อมูล และการป้องกันการทุจริต