ชั้นที่ 1
พิพิธภัณฑ์เกษตรคือชีวิต

พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา (อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ 5 ชั้น 1)
โซนจัดแสดงที่ 1 พระราชพิธีในวิถีเกษตร
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีแต่โบราณเพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกร เมื่อเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก และได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2479 และต่อมา พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นเพื่อเป็นการสืบทอดโบราณราชประเพณี ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สืบสานต่อและปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัย
โซนจัดแสดงที่ 2 กษัตริย์ เกษตร
จัดแสดงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่พระองค์ทรงพระราชสมภพ พระราชกรณียกิจกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับการเกษตรในยุคสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ และตำนานการก่อเกิดเกษตรกรรม รับชมภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน 3 มิติ ที่สอดแทรกแง่คิดไปกับความสนุกสนาน ภายในโรงภาพยนตร์ “กษัตริย์ เกษตร” ที่รองรับผู้เข้าชมได้กว่า 120 ที่นั่ง
โซนจัดแสดงที่ 3 หลักการทรงงาน
นิทรรศการภายใต้ประติมากรรมรวงข้าวสีทอง นำเสนอเรื่องราวการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์นักทดลอง นักปฏิบัติ และนักพัฒนา ด้วยการทรงงานพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศไทย และสรุปการทรงงานของพระองค์ท่าน โดยอาศัย หลักธรรม หลักคิด หลักปฏิบัติ ซึ่งดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้มีการปรับปรุงจากเดิมที่มีหลักการทรงงาน 23 ข้อ เพิ่มเติมเป็น 27 ข้อ
โซนจัดแสดงที่ 4 หัวใจใฝ่เกษตร
สนุกกับของเล่นในวิถีเกษตร จากธรรมชาติใกล้ตัว ทำได้เองพร้อมองค์ความรู้ในวิถีเกษตร เครื่องสีข้าวด้วยมือ เครื่องใช้ไม้สอยในการประกอบอาชีพเกษตร และเรียนรู้การทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน Virtual Reality game ที่สนุกจนไม่อยากวาง
โซนจัดแสดงที่ 5 ตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชจริยวัตรตามวิถีแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพระองค์ท่านเอง ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวที่ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้สิ่งของต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า ทรงพระราชทานหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และการปรับประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศ
โซนจัดแสดงที่ 6 วิถีเกษตรของพ่อ
จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการ ดิน น้ำ ป่า คนจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงมุ่งเน้นการพัฒนาคนควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่โดยยึดหลักภูมิสังคม เริ่มจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเปรียบเสมือนห้องทดลองแห่งแรก พัฒนาสู่พื้นที่จริงในแต่ละ ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการหลวง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
โซนจัดแสดงที่ 7 นวัตกรรมของพ่อ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักทดลอง นักปฏิบัติที่เปี่ยมไปด้วยพระวิริยะและพระปรีชาสามารถ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ทั้งในด้านการเกษตร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ที่ยังไม่มีผู้ใดคิดหรือทำขึ้นมาก่อน เกิดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่า ซึ่งทรงมีพระราชดำริให้จดสิทธิบัตร จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และแจ้งจดลิขสิทธิ์ในสิ่งที่ทรงคิดค้น เพื่อเป็นสมบัติภูมิปัญญาเป็นมรดกสำหรับคนไทยและประเทศไทยในอนาคต
โซนจัดแสดงที่ 8 ภูมิพลังแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชปรารภถึงคำสอนของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน ... เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดิน และอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน” นิทรรศการนี้จัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ช่วง 7 ยุคสมัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ที่อยู่ในพระอภิบาลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนถึงภูมิพลังแผ่นดินไทย แซ่ซ้องสรรเสริญพระบารมี
โซนจัดแสดงที่ 9 สนองพระราชปณิธาน
จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งการสนองพระราชปณิธานเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาชนชาวไทยทั่วทั้งแผ่นดิน โดยพระองค์ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ปวงประชาชนชาวไทย และการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืน
โซนจัดแสดงที่ 10 น้ำคือชีวิต
จัดแสดงศาสตร์พระราชาว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ กักเก็บไว้จัดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กลางน้ำ บำบัดและป้องกันน้ำเสีย ก่อนสายน้ำจะออกสู่ทะเล
พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา (อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ 5 ชั้น 2)
โซนจัดแสดงที่ 1 เกษตรไทย เกษตรโลก
เรียนรู้เรื่องราวในอดีต จุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการด้านการเกษตร ผลกระทบต่าง ๆ ของสังคมโลกต่อเกษตรไทยในแต่ละช่วงสมัย ผลกระทบที่เกิดขึ้นและการย้อนคืนสู่ฐานเดิมของสังคมด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โซนจัดแสดงที่ 2 มหัศจรรย์ท้องทุ่ง
สัมผัสบรรยากาศยามเย็นหลังเสร็จสิ้นภารกิจในเรือกสวนไร่นา ประสบการณ์ความสุขและความสนุกในวิถีเกษตรที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่หาความสุขได้ง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว ผ่านบทเพลง “มหัศจรรย์ท้องทุ่ง” ซึ่งแต่งเนื้อร้อง ทำนอง และขับร้องโดยครูสลา คุณวุฒิ สนุกสนานกับการเป็นส่วนหนึ่งของวิถีงานบุญ กับเวทีรำวงชาวบ้านด้วยระบบ Hologram แบบถ่ายทอดสด หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวหรือหมดจากฤดูทำนา เก็บข้าวเข้ายุ้งเข้าฉางเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นช่วงเวลาของงานรื่นเริง เช่น งานบุญสำคัญประจำปี ที่จะจัดกันในวัด พร้อมเกมงานวัดที่ทำให้ไม่อยากออกจากโซนนี้เลย
โซนจัดแสดงที่ 3 วิถีเกษตรลุ่มน้ำ
สัมผัสบรรยากาศและวิถีชีวิตของสังคมเกษตรบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา ทำสวน และทำประมง เรียนรู้วิถีการทำนา จัดแสดงขั้นตอนการผลิตข้าวเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินจนกระทั่งได้เป็นข้าวสาร เรือกระแชง เจ้าแห่งสายน้ำใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ จากเรือกสวนไร่นาเพื่อล่องลงมาขายสินค้าสู่ตลาดและชุมชน เส้นทางการเดินเรือผ่านชุมชน วิถีชีวิต และผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน จนถึงปากอ่าวไทย
โซนจัดแสดงที่ 4 ตลาดเก่าชาวเกษตร (ตลาดเงินทวี)
จำลองวิถีชีวิตของตลาดในอดีตที่มีลักษณะเป็นห้องแถวที่เรียงราย จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ร้านสังฆภัณฑ์ ร้านกาแฟ ร้านขายทอง ร้านขายอุปกรณ์ทางการเกษตร ร้านขายยาสมุนไพร รวมทั้งร้านค้าแผงลอย
โซนจัดแสดงที่ 5 น้อมนำคำพ่อสอน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นองค์ประธานแห่งการน้อมนำตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ภาพที่คนไทยเห็นกันจนชินตา คือ ทรงประทับอยู่เคียงข้างพระราชบิดาและทรงจดสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงงานลงในสมุดบันทึกและเรื่องราวของบุคคล เครือข่ายของพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ได้น้อมนำพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติจนเกิดผล
โซนจัดแสดงที่ 6 นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
เรื่องราวของภูมิปัญญาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย รู้จักใช้ทรัพยากรที่หลากหลาย เพื่อการพึ่งตนเองให้เหมาะสมและยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็น จุลินทรีย์ตัวจิ๋วที่เป็นนวัตกรรมจากธรรมชาติ พันธุกรรมเป็นนวัตกรรมการคัดสรรค์พันธุ์ที่ดี พลังงานทดแทนเป็นนวัตกรรมพลังงานเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน การแปรรูป เป็นนวัตกรรมการเพิ่มคุณค่าของผลผลิตทางการเกษตร และเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเป็นนวัตกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง
โซนจัดแสดงที่ 7 สถาบันเกษตรไทย
พื้นที่รวบรวมข้อมูลของ ‘สถาบันเกษตรไทย’ ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์โบราณตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เล่มจริงและในรูปแบบของ e-book กำเนิดและพัฒนาการของสถาบันเกษตรไทย จนกลายเป็นกระทรวงและองค์กรเกษตรต่าง ๆ ในปัจจุบัน รวมไปถึงประวัติบุคคลผู้มีคุณูปการต่อวงการเกษตรไทย พระยาแรกนาในอดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โซนจัดแสดงที่ 8 เกษตรอนาคต
เมื่อความหลากหลายทางพันธุกรรมและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรเกษตรกำลังถูกท้าทายด้วยวิกฤตและปัญหามากมาย ที่สำคัญ คือ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาต่าง ๆ สามารถแก้ไขได้หากเรารวมพลังสร้างสรรค์ “เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง” ให้สังคมเกษตรเติบโตอย่างยั่งยืน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเกษตรยั่งยืน ด้วยการร่วมสร้างเครือข่าย ที่ประกอบด้วยเกษตรกร ผู้สืบทอดเกษตรรุ่นใหม่ ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ และผู้บริโภค
โซนจัดแสดงที่ 9 เกษตรถิ่นไทย
เป็นการรวมผลผลิตจากภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตจากพื้นที่สูงทางภาคเหนือ ที่ราบสูงในภาคอีสาน ที่ราบลุ่มภาคกลาง และบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งทางด้านตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ผลผลิตที่หลากหลายนี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ