ผอ.พกฉ. เข้าร่วมการประชุมการมอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วันที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 13.30 น. พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย นางสาวสมพิศ วงศ์ปัญญา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร นางสาวสำเภาว์ งามเชย รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา เข้าร่วมการประชุมรับฟังนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุมธารทิพย์ ชั้น 4 กรมชลประทาน และรับชมผ่าน Application Zoom และ Facebook Live กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ ภายใต้แนวคิด “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” โดนมีนโยบายและงานสำคัญที่จะเร่งผลักดันดำเนินการในประเด็นต่างๆ ดังนี้
เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ ได้แก่ 1)การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตรโดยเป็นศูนย์บริการร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้สามารถติดต่อสอบถาม ขอทราบข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียน คลายทุกข์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ณ ศูนย์บริการร่วมเพียงแห่งเดียว2) สร้างครอบครัวเกษตร บูรณาการงานเข้มแข็งเน้นการทำงานของทุกคนทุกหน่วยงาน ต้องทำงานเป็น Team Work ให้มีศักยภาพเพื่อการทำงานระบบทีมมีประสิทธิภาพ มุ่งมั่น ร่วมแรงร่วมใจบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ3) ขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับ MR. สินค้าเกษตรโดยฟื้นฟู ยกระดับการทำงานของ MR. สินค้าเกษตร อีกครั้ง สินค้าเกษตรทุกชนิดต้องมีผู้รับผิดชอบ เน้นทำงานเชิงรุก สร้างกลไกการทำงานร่วมกันในทุกสินค้า แก้ปัญหาถูกจุด ทั้งด้านสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ การลักลอบนำเข้าแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
การรับมือภัยธรรมชาติจะต้องวางแผนมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน รับมือตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด
ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยถือเป็นการประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ เข้มงวดในการตรวจสอบสต็อกในประเทศเพื่อควบคุมในการนำเข้า การกักตุน และเก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
ยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ได้แก่ 1) ผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักสำคัญ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาที่เหมาะสม เกษตรกรบางส่วนยังทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่จึงมีรายได้น้อย จึงเน้นแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 2) ส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร (Agricultural Service Provider) โดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเครื่องมือเครื่องจักรกลของตนเองพร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มประชากรภาคเกษตรยุคใหม่
การจัดการทรัพยากรทางการเกษตรทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG / Carbon Credit จะต้องทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย
การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ได้แก่ 1)พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตรซึ่งเป็นอีกหนึ่งในนโยบายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน บริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน โดยจะเดินหน้าต่อยอด พัฒนาสร้างระบบประกันภัยให้แก่พี่น้องเกษตรกรไทย และ2) อำนวยความสะดวก สนับสนุนให้บริการเครื่องมือทางการเกษตรที่ให้เกษตรกรสามารถเช่า/ยืม เครื่องมือเครื่องจักรกลด้านการเกษตรที่เหมาะสมต่อการการผลิต
และนอกจากนี้ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เข้าร่วมรับฟังนโยบายฯ โดยรับชมผ่าน Application Zoom และ Facebook Live กระทรวงเกษตรและสหกรณ์