3 – 4 สิงหาคม สัมผัสรักรสมือแม่ในตลาดเศรษฐกิจพอเพียง “รสมือแม่ รสเด็ดเจ็ดย่านน้ำ” ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ปทุมธานี

27 ก.ค. 67 48

        พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ปทุมธานี เสิร์ฟความแซ่บนัวชวนคิดถึงรสสัมผัสกับข้าวฝีมือแม่ 3-4 สิงหาคม 2567 ที่งานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง “รสมือแม่ รสเด็ดเจ็ดย่านน้ำ” ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ภายในงานพบกับนิทรรศการ “รสมือที่แม่แกง รสแกงที่แม่ทำ” ลิ้มรสความอร่อยอาหารจานโปรดในความทรงจำ ที่เต็มไปด้วยความรักจากแม่ นิทรรศการ “ครบเครื่องเรื่องเครื่องปรุงรสไทย” สารพัดเมนูน้ำพริกประจำถิ่น 4 ภาค พร้อมองค์ความรู้เรื่องวัตถุดิบนานาชนิด อบรมฟรี 8 หลักสูตร วิชาของแผ่นดินและ Workshop กับผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์จริง ชม ช้อป ผัก ผลไม้ อาหารพื้นบ้านและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปคุณภาพจากเกษตรกร เครือข่ายทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศไทยกว่า 100 ร้านค้า 

        พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดเผยว่า “อาหาร เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ยิ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาอาหารไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งรสชาติ กลิ่นหอม ความหลากหลาย และความพิถีพิถันในการปรุงรส เสน่ห์ในส่วนนี้ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็น Soft Power สำคัญของประเทศและช่วยสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม และสำหรับเดือนสิงหาคมมีวันสำคัญ คือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ได้กำหนดจัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง “รสมือแม่ รสเด็ดเจ็ดย่านน้ำ” ในวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 เพื่อเป็นพื้นที่ให้เหล่าลูกๆ ได้พาคุณแม่ และครอบครัวมาพักผ่อน เที่ยวชม และร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในงาน โดยครั้งนี้ได้นำเอาองค์ความรู้และเคล็ดลับความอร่อย ของเมนูอาหารคู่ครัวไทยอย่าง “น้ำพริก” จาก 4 ภูมิภาค มาให้ผู้ร่วมงานได้ชมและชิมรสความอร่อยสารพัดน้ำพริกที่เสิร์ฟมาคู่กับผักเคียงพื้นบ้านนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีสาระความรู้ด้านการเกษตรจากวิทยากรฝีมือดีมากประสบการณ์ อีกทั้งอาหารคาว หวาน รสชาติต้นตำหรับหลากหลายเมนู สินค้าเกษตรตามฤดูกาลส่งตรงจากสวน และผลิตภัณฑ์แปรรูปคุณภาพ จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมไว้บริการในงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งนี้อย่างเต็มที่ตลอดทั้ง 2 วันงาน” 

        นิทรรศการ ครบเครื่องเรื่องเครื่องปรุงรสไทย เกร็ดความรู้สูตรเด็ดสารพัดน้ำพริกคู่ครัวไทยสะท้อนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนไทยผ่านอาหารประจำถิ่น ที่คัดสรรวัตถุดิบเครื่องปรุงชั้นดีมาผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นรสชาติความอร่อยเฉพาะตัว และพบกับตัวจริงเรื่องน้ำพริกใน นิทรรศการ “รสมือที่แม่แกง รสแกงที่แม่ทำ” โดย น้ำพริกนายพราน จ.กำแพงเพชร ที่ได้พาคุณแม่ เจ้าของสูตรเด็ดน้ำพริกกว่า 100 ปี มาเผยเบื้องหลังความจัดจ้านถึงพริกถึงขิงของน้ำพริกที่ใครได้ทานก็ต้องติดใจ และพูดคุยแลกเปลี่ยนสูตรลับ ตำหรับความอร่อยกับข้าวรสมือแม่ พร้อมเปิดครกลงมือทำน้ำพริกชนิดต่างๆให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ลองทำและชิม 

        เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากวิทยากรมากฝีมือ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดวิถีเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการ 8 หลักสูตร ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online ผ่าน Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ อาทิ หลักสูตร “ปลูกเมล่อนมาตรฐาน GAP” โดยอาจารย์ปคุณา บุญก่อเกื้อ เจ้าของ ฟูราโนะ ฟาร์ม บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หลักสูตร “6 ตารางวา พาทำเกษตร” จากอาจารย์อภิชัย ฮั้วบางยาง เจ้าของฟาร์มพอใจเกษตรอินทรีย์บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หลักสูตร “How to ดูน้ำผึ้งแท้” โดยอาจารย์วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.นครสวรรค์ หลักสูตร “รู้รอบ ก่อนทำเกษตร” อาจารย์บัญชา อินทชิต สวนบ้านอินทชิต วิสาหกิจชุมชนวิถีอินทรีย์บ้านห้วยโรง จ.นครนายก และหลักสูตร “กระยาสารท รสมือเเม่” จากอาจารย์สกุณา ลางคุณเสน วิสาหกิจชุมชนขนมไทย (อำนวยขนมไทย) จ.ปทุมธานี เป็นต้น 

        กิจกรรมพิเศษ Workshop หัตถศิลป์ไทยสร้างอาชีพ โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร เรียนรู้งานหัตถกรรมจากหลักสูตรสร้างงาน สร้างรายได้ อาทิ การทำพวงกุญแจจากหนัง การทำผ้าเช็ดหน้าบาติก การเพ้นท์กระเป๋าผ้า และชมการสาธิตการผลิตพลังงานด้วยเตาพลังงานเทียม จากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ 

        ชม บรรยากาศความสุข ความอบอุ่น และความเป็นกันเองของพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ชิม ความอร่อยแบบแซ่บนัวของอาหารพื้นบ้านไทย 4 ภาค พร้อม ช้อป สินค้าผลผลิตเกษตรปลอดภัย ต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ สมุนไพรนานาชนิด และผลิตภัณฑ์แปรรูป ในราคาสบายกระเป๋า กว่า 100 ร้านค้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Line ID : @wisdomkingmuseum